เกษตรกรอีสานเฮ! เลื้ยงโคขุนกำไรอื้อ
ประมวล หนองสูง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด แห่งบ้านคำพอก ต.โนนยาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงโคขุนมากว่า 5 ปีแล้ว หลังจากลาออกจากลูกจ้างฟาร์มเลี้ยงไก่ก็หันมาเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากชาวบ้านในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโคเนื้อ โดยเริ่มต้นจากเลี้ยง 3 ตัว ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 40 ตัว แบ่งเป็นโคขุน 30 ตัว และแม่พันธุ์อีก 10 ตัว โดยใช้เวลาขุนประมาณ 15 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งตัวจะโตเต็มที่ จากนั้นจึงจำหน่ายให้แก่สหกรณ์การเกษตรหนองสูงเพื่อนำไปชำแหละแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
"ปัญหาที่เจอก่อนหน้านี้คือแม่พันธุ์เลือดยังไม่นิ่ง ทำให้ขุนไม่ได้ หรือต้องใช้เวลานานแล้วคุณภาพเนื้อก็ไม่ดีด้วย แต่ในปัจจุบันเรื่องสายพันธุ์ไม่มีปัญหาได้ลูกผสมที่เลือดนิ่งแล้วนอกจากนี้ก็เป็นเรื่องอาหารเมื่อก่อนต้องซื้ออาหารเม็ดมาเลี้ยงทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง แต่ปัจจุบันได้ผลิตอาหารเอง โดยซื้อกากถั่วเหลือง กากมันเส้นจากโรงงานเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารโค ซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้มาก" ประมวล เผยกับ "คม ชัด ลึก"
เขาระบุอีกว่า ในส่วนการจำหน่ายโคขุนให้แก่ทางสหกรณ์นั้นสนนราคาเฉลี่ยตัวละ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโคเนื้อพันธุ์บรามันห์ ส่วนถ้าเป็นพันธุ์วากิวจะได้กำไรเพิ่มอีกเท่าตัวหรืออยู่ที่ตัวละ 3 หมื่นบาท
ส่วน ประวิทย์ นามเหลา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด กล่าวถึงแผนการตลาดของสหกรณ์ว่าขณะนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง โดยช่องทางแรกเป็นการขายยกซาก ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ประมาณ 60% โดยสหกรณ์จะรับซื้อโคขุนจากสมาชิก จากนั้นก็จะมาชำแหละจากนั้นก็จะหมักไว้ประมาณ 7 วันก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนเหตุผลในการหมักก็เพื่อจะทำให้เนื้อมีความนุ่มมากขึ้น ส่วนช่องทางที่สองจะจำหน่ายในรูปของชิ้นส่วน ซึ่งส่วนนี้จะมีประมาณ 30% และสุดท้ายจะเป็นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้จะมีเพียง 10% ขณะเดียวกันในปี 2562 ทางสหกรณ์ได้เตรียมยื่นขอมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์จีเอ็มพี โดยวางเป้าอนาคตสำหรับการส่งออกตลาดต่างประเทศด้วย
"ปัจจุบันสหกรณ์รับซื้อโคขุนจากสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 60 ตัวต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 240 ตัวต่อเดือน หลังมีอาคารโรงงานใหม่จะเพิ่มการแปรรูปโคขึ้นอีกเท่าตัวคือ 480 ตัวต่อเดือน โดยจะรับซื้อโคจากสมาชิกในราคา 200-290 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ราคารับซื้อจะแยกไปตามเกรดของเนื้อโคมีตั้งแต่เกรด 2 ไปจนถึงเกรด 5 ซึ่งเป็นเนื้อระดับพรีเมียมราคารับซื้ออยู่ที่ 290 บาทต่อกิโลกรัม โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไปกรุงเทพฯ เป็นหลักประมาณ 70% ส่วนอีก 30% จะขายในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน" ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง กล่าวทิ้งท้าย