ประวัติสหกรณ์
ประวัติความเป็นมา
สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ประจวบคีรีขันธ์ จำกัด เดิมมีชื่อว่า “สหกรณ์โคนม ประจวบคีรีขันธ์ จำกัด” ได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตร ไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2524
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ดังใบสำคัญรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสหกรณ์เลขหมายทะเบียนสหกรณ์ที่ กสก 43/2524 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511
สืบเนื่องจากปัญหาการผลิตสับปะรดมีมากเกินความต้องการ และราคาต่ำเป็นผลให้ ชาวไร่สับปะรดประสบความเดือดร้อน ในช่วงปี 2523-2524 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับปลูกสับปะรดส่งโรงงาน
และเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้จึงได้มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ทดแทนการปลูกสับปะรดใน พื้นที่ปลูกสับปะรด ประกอบด้วย อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ ของจังหวัดเพชรบุรี, อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมืองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยมอบหมายให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ จัดอบรมเกษตรกรให้มีความรู้เกี่ยวกับเลี้ยงโคนม จัดหาโคนมเข้าโครงการฯ และทำการประกันราคาและรับซื้อน้ำนมที่ผลิตได้ นอกจากนี้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดหาสินเชื่อให้เกษตรกรสำหรับการลงทุน
- ด้านสมาชิก
สมาชิกทั้งหมด จำนวน 101 ราย
สมาชิกส่งน้ำนมดิบ จำนวน 74 ราย
ทุนเรือนหุ้น จำนวน 882,547 หุ้น
เป็นเงินจำนวน 8,825,470 บาท
เงินทุนสำรอง 5,089,761.78 บาท
- ด้านน้ำนมดิบ
ปัจจุบันสหกรณ์ฯ รวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกประมาณวันละ 18 ตัน โดยจำหน่ายน้ำนมดิบให้กับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ตามบันทึกข้อตกลงการซื้อ - ขายน้ำนมดิบ ประจำปี2559/2560 (MOU 2559/2560) เป็นจำนวน 22 ตันต่อวัน
- ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ยต่อฟาร์ม
โคนมทั้งสิ้น จำนวน 3,475 ตัว
โครีดนม จำนวน 1,373 ตัว
ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยต่อวัน 18,000 กิโลกรัม
ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยต่อตัว 13.10 กิโลกรัม
ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยต่อฟาร์มต่อวัน 243.24 กิโลกรัม
- มาตรฐานฟาร์ม
ในปี พ.ศ. 2559 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนม รวมทั้งสิ้น 46 ราย จากสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่เลี้ยงโคนมทั้งหมด 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 63
ด้านบุคลากร : การบริหารงานสหกรณ์ ดำเนินการภายใต้ข้อบังคับสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ระเบียบของสหกรณ์ฯ และมติคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ โดยมีบุคลากรดังนี้
ที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ : จำนวน 4 ท่าน
ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ฯ : จำนวน 2 ท่าน
คณะกรรมการดำเนินการ : จำนวน 13 ท่าน
- อนุกรรมการอำนวยการ 5 ท่าน
- อนุกรรมการฝ่ายศูนย์รับน้ำนมดิบ 5 ท่าน
- อนุกรรมการฝ่ายคลังสินค้า 5 ท่าน
- อนุกรรมการฝ่ายเงินกู้ฉุกเฉิน 5 ท่าน
- อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ 5 ท่าน
ภารกิจหลักที่ให้บริการแก่สมาชิกแบ่งออกได้ดังนี้
- ธุรกิจการซื้อ
สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการจัดหาสินค้าต่าง ๆ มาบริการแก่สมาชิกตามความต้องการ ได้แก่ อาหารสัตว์อัดเม็ดจากบริษัทเอกชนต่าง ๆ ยารักษาโค แร่ธาตุ และอาหารเสริมโคนม สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องมือและอุปกรณ์ฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งสหกรณ์ฯ จัดจำหน่ายแบบขายเชื่อและขายเงินสด สามารถจูงใจ ให้สมาชิกทั้งหมดมาใช้บริการจากสหกรณ์ฯ ได้เป็นอย่างดี สหกรณ์ฯ ให้บริการ ส่งสินค้าต่าง ๆ ให้สมาชิกถึงฟาร์ม โดยเจ้าหน้าที่เข้าถึงสมาชิกได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจขาย
ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่สามารถรวบรวมได้ถึงวันละ 30 ตัน/วัน และมีปริมาณน้ำนมดิบ ที่รวบรวมจากสมาชิกปัจจุบันวันละ 22 ตัน โดยราคาประกันการรับซื้อกิโลกรัมละ 17.40 บาท เพิ่ม – ลดตามคุณภาพน้ำนมดิบโดยจะทำการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำนมดิบ เพื่อกำหนดราคาให้กับสมาชิกในแต่ละงวด (1 งวด 15 วัน) โดยสมาชิกสหกรณ์ฯ จะต้องนำผลผลิตที่สามารถผลิตได้ต่อวันส่งขายให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อสหกรณ์จะได้ทำการรวบรวมน้ำนมดิบทั้งหมดต่อวัน ส่งจำหน่ายให้กับโรงงาน อ.ส.ค. ภาคใต้ ตามเงื่อนไขบันทึกข้อตกลง (MOU) ปี 2559/2560
- ธุรกิจสินเชื่อ
สหกรณ์ให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกโดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นเงินกู้ฉุกเฉิน
และเงินกู้ระยะปานกลาง
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 8% ต่อปี
- วงเงินกู้รวมทุกสัญญาไม่เกิน 400,000 บาท
- เงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้ฉุกเฉินมีกำหนดระยะเวลาชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
วงเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 120,000 บาท และ
วงเงินกู้ฉุกเฉินไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินกู้ระยะปานกลางมีกำหนดระยะเวลาชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท